วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ความซาบซึ้งในความงามของศิลปะ
ความรู้สึกซาบซึ้งในสุนทรียภาพหรือความงาม จะบังเกิดผลสมความปรารถนาหรือไม่เพียงไรนั้น ขึ้นอยู่กับการใฝ่หาความรู้ในศิลปะ ตลอดจนการพัฒนารสนิยมของแต่ละบุคคล ความซาบซึ้งในความงามของศิลปะมี 2 ประการ คือ
1. ความซาบซึ้งทางอารมณ์ เป็นความรู้สึกบนพื้นฐานแห่งความชื่นชมยินดี และความพึง-พอใจที่ได้รับจากการสัมผัสกับความงามในองค์ประกอบของเส้น สี แสง เงา รูปทรง ท่าทาง ถ้อยคำสำนวนและอื่น ๆ อันเป็นความรู้สึกประทับใจหรือสะเทือนใจ
2. ความซาบซึ้งทางพุทธิปัญญา เป็นความรู้สึกในขั้นต่อมาจากการมีความเข้าใจในหลักของความงามทางสุนทรียภาพหรือความงามของงานศิลปะ รู้ถึงองค์ประกอบของงานศิลปะและวิวัฒนาการของศิลปะ ซึ่งเกิดจากความคิดสร้างสรรค์อันไม่สิ้นสุดของมนุษย์ เป็นการเสริมสร้างรสนิยมทางศิลปะของมวลชนในชาติให้มีระดับสูงขึ้น

ขอบข่ายในการเรียนศิลปะโดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงศิลปะย่อมหมายถึง วิจิตรศิลป์ (Fine Art) และศิลปะประยุกต์ (Applied Art)
1. วิจิตรศิลป์ (Fine Art) หรือศิลปะบริสุทธิ์ (Pure
Art) หมายถึง ภาพพิมพ์ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม วรรณศิลป์ และดุริยางคศิลป์
(คีตศิลป์) ซึ่งเกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของธรรมชาติ จนส่งเสริมให้ศิลปินเกิดความคิดสร้างสรรค์ในงานศิลปะ
มีจุดมุ่งหมายคือส่งเสริมจิตใจและปัญญาความคิดของมนุษย์ ถือเป็นศิลปะชั้นสูง
- วิจิตรศิลป์ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์อันประณีตของเส้นและมวลสิ่งหรือสี
- สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และภาพพิมพ์ เรียกว่า ศิลปะกินระวางเนื้อที่ (Space Art) ซึ่งเป็นศิลปะที่มองเห็น จึงถูกเรียกว่า ทัศนศิลป์ (Visual Art) เพราะจำกัดระวางเนื้อที่ส่วนใดส่วนหนึ่งในอากาศด้วยปริมาตรของศิลปะเท่านั้น ซึ่งคุณสมบัติที่แท้จริงของศิลปะที่มองเห็น ไม่ได้อยู่ที่วัสดุแต่อยู่ที่จิตใจ
2. ศิลปะประยุกต์ (Applied Art) เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เครื่องประดับ เครื่องใช้สอยต่าง ๆ เสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งศิลปะประยุกต์อาจแยกย่อยออกเป็น
- มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) ได้แก่ การออกแบบและการตกแต่งภายใน
- พาณิชยศิลป์ (Commercial Art) ได้แก่ ศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อการค้าขาย อาจออกมาในรูปแบบของการโฆษณา หรือการประดิษฐ์สิ่งของขึ้นมาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน
- อุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Art) ได้แก่ การผลิตจำนวนมากเพื่อใช้ในอุตสาห-กรรม

คุณค่าของศิลปะ
1. ศิลปะมีส่วนช่วยเสริมสร้างจิตใจของมนุษย์ให้สูงขึ้น ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีต่อกัน ทั้งนี้เพราะศิลปะมีขึ้นเพื่อสนองความต้องการทางอารมณ์และจิตใจ ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างสติปัญญาด้วย
2. ศิลปะมีความสำคัญต่อการแสดงออกถึงความเจริญทางวัฒนธรรมของสังคมในแต่ละยุค
3. ศิลปะช่วยให้ชีวิตมีความสุขราบรื่น เพราะความเข้าใจในศิลปะช่วยสร้างให้เกิดความเข้าใจกัน
4. ช่วยเสริมสร้างความงามของสิ่งแวดล้อมในสังคมและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง
5. เด็กที่ได้คุ้นเคยต่อการพบเห็นสิ่งประณีตสวยงามตั้งแต่วัยเยาว์ จะช่วยให้เด็กมีความคิดอ่านประณีต สุขุม เป็นคนดีของสังคม และประพฤติปฏิบัติไปตามกฎแห่งศีลธรรม
ศิลปะมีความเป็นกลางหรือเป็นสากล เป็นสมบัติอันน่าภาคภูมิใจของมวลชนทั่วโลก ศิลปะจึงเป็นที่รวมของจิตใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และให้ก้าวไปสู่ความดีงามด้วยกัน